ความหมายของ เช็ค
คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "ผู้สั่งจ่าย" สั่งให้ธนาคาร ซึ่งตนมีบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ แก่บุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของตนซึ่งเรียกว่า "ผู้รับเงิน" และสัญญาว่าตนจะใช้เงินจำนวนนั้นให้ด้วย ตนองหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อมีการนำเช็คไปเรียกเก็บธนาคารโดยชอบ
ประเภทของเช็ค แบ่งประเภทของเช็คตามกฎหมายมี 2 ประเภท คือ
1. เช็คระบุชื่อ คือ เช็คที่ผู้สั่งจ่ายออกโดยสั่งธนาคารให้จ่ายเงินโดยระบุ ชื่อผู้รับเงิน หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลนั้น
2. เช็คผู้ถือ
รายการในเช็ค
หนังสือตราสารที่จะเป็นเช็คตามกฎหมายนั้นจะต้องระบุรายการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งทางปฏิบัติก็จะเป็นกระดาษเช็คที่ธนาคารมอบให้แก่ผู้มีเงินฝากในบัญชีกระแสรายวัน กับธนาคาร โดยจะมอบให้เป็นสมุดเช็ค เพื่อใช้ในการเบิกถอนเงินฝากจากธนาคาร และในกระดาษเช็คก็จะเป็นแบบพิมพ์ของธนาคารที่มีรายการต่าง ๆ ที่จะให้ผู้ออกเช็ค เขียน หรือพิมพ์ลงไปได้ มีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้
1. คำบอกชื่อว่าเป็น "เช็ค"
2. คำสั่งซึ่งให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน โดยไม่มีเงื่อนไขในการใช้เงิน
3. ชื่อ หรือยี่ห้อ และสำนักของธนาคาร
4. ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ซื้อ
5. สถานที่ใช้เงิน
6. วัน เดือน ปี และสถานที่ที่ออกเช็ค
7. ลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ของผู้สั่งจ่าย
รายการต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้นนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ หากขาดไป ย่อมทำให้ตราสารนั้นไม่สมบูรณ์ที่จะเป็นเช็คตามกฎหมาย อันทำให้เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกให้ธนาคารจ่ายเงิน หรือไม่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ต่าง ๆ ชดใช้เงินหากธนาคารไม่ยอมจ่ายเงินให้ แต่มีข้อยกเว้นในบางรายการที่หากขาดไป กฎหมายยังถือว่าตราสารนั้นสมบูรณ์เป็นเช็คอยู่ โดยกฎหมายบัญญัติแก้ไว้ดังนี้
1. สถานที่ใช้เงินนั้นหากไม่ระบุไว้ให้ถือว่าให้ใช้เงินนั้น ณ ที่อยู่ (ภูมิลำเนา) ของผู้จ่าย (ธนาคาร) เพราะผู้จ่ายเงินเป็นผู้ใช้เงิน
2. วัน เดือน ปี ที่ออกเช็คนั้นหากไม่ระบุไว้ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนใด คนหนึ่ง ผู้ทำการโดยสุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้
3. สถานที่ที่ออกเช็คนั้นหากไม่ระบุไว้ให้ถือว่าเป็นเช็ค ออก ณ ที่อยู่ (ภูมิลำเนา) ของผู้สั่งจ่ายเพราะผู้สั่งจ่ายเป็นผู้ออกเช็ค ดังนั้น ผู้ที่จะออกเช็ค และผู้ที่จะรับเช็คจะต้องพิจารณาว่ามีรายการ ที่ขาดไม่ได้ครบถ้วน หรือไม่ อันได้แก่รายการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. คำบอกชื่อว่าเป็น "เช็ค"
2. คำสั่งให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนโดยไม่มีเงื่อนไขการใช้เงิน
3. ชื่อ หรือยี่ห้อ และสำนักของธนาคาร
4. ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
5. ลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ของผู้สั่งจ่าย
การขีดคร่อม
คือ การขีดเส้นคู่ขนานไว้ที่ เช็ค โดยอาจเป็น เช็ค ระบุชื่อ หรือ เช็ค ผู้ถือก็ได้ ซึ่งมักจะทำกันที่ด้านซ้ายของหัวมุม เช็ค ด้านบน อันทำให้ เช็ค นั้นเป็น เช็ค ขีดคร่อม โดยถ้ามีเส้นคู่ขนานเพียงอย่างเดียวเป็นการขีดคร่อมทั่วไป แต่ถ้าระบุชื่อข้อความธนาคารลงไปในระหว่างเส้นคู่ขนานเป็นการขีดคร่อมเฉพาะ ซึ่งมีผลทำให้ผู้ทรงจะนำ เช็ค ไปเบิกเงินสดจากธนาคารโดยตรงมิได้ แต่ต้องนำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง หรือผู้อื่นเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บจากผู้สั่งจ่าย โดยอาจเป็นธนคารใด ธนาคารหนึ่ง ที่ตนมีบัญชีเงินฝากก็ได้ หากเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป หรือให้ธนาคารที่มีชื่อระบุในเส้นคู่ขนานใน เช็ค เป็นผู้เรียกเก็บหากเป็น เช็คขีดคร่อมเฉพาะ
การใช้เงินตามเช็ค
การใช้เงินตาม เช็ค เป็นหัวใจของเรื่อง เช็ค เพราะ เช็ค นั้นมีขึ้นเพื่อเป็นวัตถุที่ใช้ในการชำระหนี้ แทนเงินสด ซึ่งจะมีการชำระหนี้ตาม เช็คโดยสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้มีการนำ เช็ค ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร เมื่อ เช็ค ถึงกำหนดชำระ และธนาคารชำระเงินสดให้ผู้ทรงเช็ค ซึ่งเป็นเจ้าหนี้แล้ว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ผู้มีสิทธเรียกให้ใช้เงิน ผู้มีสิทธิเรียกเงินตาม เช็ค คือ เจ้าหนี้ ในเช็คซึ่งก็คือ ผู้ทรงเช็ค ในขณะที่เช็คถึงกำหนดชำระโดยผู้ทรงอาจเรียกเก็บเงินจากธนาคารด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นเรียกเก็บเงินแทนก็ได้
2. ระยะเวลาของการยื่นเช็คต่อธนาคาร การนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารนั้นต้องไปดำเนินการในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
- เป็นเช็คให้ใช้เงินในจังหวัดเดียวกันกับจังหวัดที่ผู้สั่งจ่ายออกเช็ค เช่น ผู้สั่งจ่ายออกเช็คที่กรุงเทพฯ และให้ใช้เงินที่ธนาคารกรุงธน จำกัด ที่กรุงเทพฯ ผู้ทรงก็ต้องยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามเช็คภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้ออกเช็ค ( คือ วันที่ผู้สั่งจ่ายระบุในเช็คว่าเป็นวันออกเช็ค ซึ่งอาจมิใช่วันที่ผู้สั่งจ่าย เขียน หรือ พิมพ์เช็คนั้นก็ได้ ) หากผู้ทรงยื่นเช็คให้ธนาคารจ่ายเงินภายหลังกำหนด ระยะเวลาเดือนดังกล่าว และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินผู้ทรงจะเรียกให้ผู้สลักหลังทั้งหลายใช้เงินมิได้ และจะเรียกเงินจากผู้สั่งจ่ายได้บางส่วน โดยต้องหักส่วนที่ผู้สั่งจ่ายเสียหาย เพราะการที่ตนไม่ยอมเรียกเก็บเงินภายหลังกำหนด ระยะเวลาเดือนดังกล่าว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินผู้ทรงจะเรียกให้ผู้สลักหลังทั้งหลายใช้เงินมิได้ และจะเรียกเงินจากผู้สั่งจ่ายได้บางส่วน โดยต้องหักส่วนที่ผู้สั่งจ่ายเสียหาย เพราะการที่ตนไม่ยอมเรียกเก็บเงินจากธนาคารภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับเงินเลย และถ้าเสียหายมากเท่าจำนวนเงินที่ตนจะได้รับ หรือมากกว่า
- ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในจังหวัดอื่นที่มิใช่จังหวัดที่ผู้สั่งจ่าย ออกเช็ค เช่นผู้สั่งจ่ายออกเช็คที่กรุงเทพฯ แต่ให้ใช้เงินที่ธนาคารที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ทรงต้องยื่นเช็คเรียกเก็บเงินต่อธนาคารที่จังหวัดเชียงใหม่ภายในกำหนดเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่ผู้สั่งจ่ายออเช็ค หากผู้ทรงนำเช็คไปเรียกเก็บเงินหลังกำหนด 3 เดือน และธนาคารไม่ยอมจ่ายเงิน ผู้ทรงย่อมเสียสิทธิที่จะเรียกเงินจากผู้สลักหลังทั้งหลาย และจะเรียกเงินจากผู้สั่งจ่ายได้บางส่วน โดยต้องหักส่วนที่ผู้สั่งจ่ายเสียหาย และเพราะการที่ตนไม่ยอมเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับเงินเลยถ้าเสียหายมากเท่ากับจำนวนเงินที่ตนจะได้รับ/มากกว่า
ถึงอย่างไร ธนาคารอาจจ่ายเงินให้ผู้ทรงเช็คที่เรียกเก็บเงินเกินกว่า ระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ได้ เว้นแต่จะยื่นเช็คให้ใช้เงินเกินกว่า 6 เดือน นับแต่วันที่ออกเช็ค ซึ่งในกรณีนั้นธนาคารมีดุลพินิจที่จะไม่จ่ายเงินให้ผู้ทรงได้ตามกฎหมาย
ข้อคววรปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องกับ "เช็ค"
ผู้สั่งจ่าย
1. การเก็บรักษาสมุดเช็ค ผู้ที่มีสมุดเช็คควรเก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในที่ที่ปลอดภัย ยากแก่การสูญหาย หรือถูกลักขโมย เพราะอาจจะประสบปัญหา หรือความยุ่งยาก ถ้าสมุดเช็คนั้นตกไปอยู่ในมือของบุคคลอื่น และถึงขั้นมีการปลอมลายมือชื่อของเจ้าของเช็คเป็นผู้สั่งจ่าย แม้ว่าตนจะไม่ต้องรับผิด เพราะมิได้ลงลายมื่อชื่อไว้ในเช็คก็ตาม และยิ่งจะมีปัญหามากขึ้น ถ้าได้มีการลงลายมือชื่อไว้เป็นเช็คล่วงหน้า โดยยังไม่ได้สั่งจ่ายให้ผู้ใด เพราะอาจต้องรับผิดตามเช็คนั้น ๆ
2. การลงรายการในเช็ค การลงรายการในเช็คควรเขียน หรือพิมพ์ให้ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องรายการที่ผู้สั่งจ่ายต้องเป็นผู้ระบุ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ในเรื่องจำนวนเงินควรระบุให้ชัดเจน และให้ถูกต้อง ตรงกันไม่ว่าจะเป็นตัวเลข และตัวอักษร ส่วนเรื่อง ชื่อ หรือ ยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ถ้าต้องการออกเช็คระบุชื่อก็ให้ระบุชื่อ และขีดฆ่าคำว่า " หรือ ผู้ถือออก" เพราะหากไม่ขีดฆ่าคำว่า หรือผู้ถือออก ก็จะกลายเป็นเช็คผู้ถือ เช่น ใช้คำว่า "จ่ายสด" ย่อมถือว่าเป็นเช็คที่ขาดรายการผู้รับเงิน อันจะทำให้ตราสารนั้นไม่สมบูรณ์เป็นเช็ค ซึ่งทางธนาคารจะไม่จ่ายเงินให้ผู้ทรง และผู้สั่งจ่ายอาจมีความผิดทางอาญา เพราะจะถือว่าผู้สั่งจ่ายออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นได้ สำหรับการลงลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายนั้นควรจะเซ็นชื่อให้ชัดเจนให้ตรงกับตัวอย่างที่ให้ไว้กับธนาคาร และถ้ามีการใช้ตราประทับ อย่างเช่น ในกรณีที่กระทำแทนห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทก็ต้องจำให้ถูกต้องตามข้อบังคับ ของห้าง หรือบริษัท และในส่วนกรณีของบุคคลธรรมดานั้นไม่ควรใช้ตราประทับแทนการลงลายมือชื่อ ถึงแม้จะมีพยานรับรองลายมือชื่อสองคนก็ตาม เพราะอาจจะมีการปลอมตราประทับกันได้ง่าย ๆ
3. การขีดคร่อมเช็ค การสั่งจ่ายเช็คเป็นเงินจำนวนค่อนข้างมากควรขีดคร่อมเช็ค ซึ่งอาจเป็นการขีดคร่อมทั่วไป หรือขีดคร่อมเฉพาะ เพื่อให้ผู้ที่เรียกเก็บเงินต้องนำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งจะตรวจสอบได้ว่าบุคคลใดนำเช็คมาเรียกเก็บเงิน และหากบุคคลนั้นไม่ใช่ผู้ทรงเช็คก็จะได้ติดตามคืนได้ง่ายกว่าการไม่ขีดคร่อมเช็ค
4. ข้อควรปฏิบัติในกรณีเช็คหาย กรณีที่เช็คสูญหายไปไม่ว่าจะหายไปจากการครอบครองของผู้สั่งจ่าย หรือของผู้ทรง และผู้ทรงได้แจ้งให้ผู้สั่งจ่ายทราบ ผู้สั่งจ่ายควรแจ้งให้ธนาคารรับรู้เพื่อทำการระงับการจ่ายเงิน มิฉะนั้นแล้วหากธนาคารจ่ายเงินส่วนนั้นออกไปก็อาจถูกหักบัญชีที่ตนมีอยู่ในธนาคารได้
ผู้ทรงเช็ค
ผู้ที่จะรับชำระหนี้ด้วยเช็คต้องตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นอันเกี่ยวข้อง เพื่อความมั่นใจว่าตนจะได้รับชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระโดยควรพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ฐานะของผู้ที่จะชำระหนี้ด้วยเช็ค ผู้ที่จะรับชำระหนี้ด้วยเช็คการตรวจสอบฐานะทางการเงิน บุคคลที่ขอได้รับชำระหนี้ด้วยเช็คไม่ว่าบุคคลนั้นจะออกเช็คให้ผู้สั่งจ่าย หรือได้รับเช็คไว้และจะโอนเช็คให้ผู้สลักหลัง ว่ามีฐานะอย่างไร มีชื่อเสียงในด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความน่าไว้วางใจมากน้อยเพียงใดเพื่อว่า ถ้าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตนจะสามารถเรียกให้บุคคลเหล่านั้นรับผิดชำระหนี้ให้ตนได้
- ตรวจเช็ค ผู้ที่จะรับชำระหนี้ด้วยเช็คควรตรงจดูสภาพของเช็คในเรื่องต่าง ๆ เช่น เช็คนั้นเป็นเช็คของผู้ที่จะชำระหนี้ให้หรือไม่ หากบุคคลนั้นจะออกเช็คให้ไม่ควรให้ยืมเช็คของบุคคลอื่นมาสั่งจ่ายรายการต่าง ๆ ในเช็ค มีครบถ้วนหรือไม่ โดยเฉพาะรายการที่สำคัญกล่าวคือ จำนวนเงินที่เป็นตัวเลข ตัวอักษรจะต้องตรงกัน ต้องมีรายการชื่อ หรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือมีคำว่า "ผู้ถืออยู่ด้วย" ถ้าเขียนคำว่า "จ่ายสด" โดยขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือออก" ย่อมใช้ไม่ได้เพราะขาดรายการผู้รับเงินต้องมีการลงวันที่ออกเช็คไว้เพราะถ้าไม่มีการลงวันที่ออกเช็คไว้จะทำให้ผู้สั่งจ่ายไม่มีความผิดทางอาญา แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินต้องให้ผู้สั่งจ่ายเซ็นชื่อต่อหน้าตนเอง เพื่อที่จะแน่ใจได้ว่าไม่มีลายมือชื่อปลอม ( ในกรณีที่รับเช็คจากผู้สั่งจ่ายที่ออก เช็คชำระหนี้ให้ตนโดยตรง ) และถ้ารับเช็คจากห้าง หรือ บริษัท หรือนิติบุคคลอื่น ควรตรวจดูว่ามีผู้แทนของห้าง บริษัท หรือนิติบุคคล เช็นชื่อ และมีการใช้ตราประทับโดยถูกต้องหรือไม่ นอกจากนั้นถ้าเป็นผู้รับโอนเช็ค คือไม่ได้รับเช็คจากผู้สั่งจ่าย โดยตรงแต่รับเช็คจากผู้สั่งจ่าย หรือคนอื่น ๆ ต่อ ๆ กัน แล้วนนอกจากจะตรวจดูสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ควรตรวจดูว่าผู้สั่งจ่ายได้ ระบุห้ามเปลี่ยนเมือไว้ในเช็คหรือไม่ และควรตรวจดูว่าเช็คนั้นมีร่องรอยการแก้ไขหรือไม่ ถ้ามีก็ไม่ควรที่จะรับ
ทางสำนักงานฯ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่ท่านผู้อ่านได้รับทราบคงมีประโยชน์ต่อกิจการ หรือต่อบุคคลที่ต้องการความรู้ทางด้านเช็คไม่มากก็น้อยนะค่ะ