ผู้ทำบัญชี ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543
คือ ผู้รับผิดชอบการทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีไม่ว่าจะกระทำในฐานะลูกจ้างของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี หรือไม่ก็ตาม ได้แก่บุคคลต่อไปนี้
1. กรณีเป็นพนักงานของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ได้แก่
- ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี สมุห์บัญชี หัวหน้าแผนกบัญชี หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
2. กรณีเป็นสำนักงานบริการรับทำบัญชี คือ
- หัวหน้าสำนักงาน กรณีสำนักงานมิได้จัดตั้งในรูปคณะบุคคล
- ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งรับผิดชอบในการให้บริการรับทำบัญชีกรณีสำนักงานจัดตั้งในรูปคณะบุคคล
- กรรมการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งรับผิดชอบในการให้บริการรับทำบัญชี กรณีสำนักงานจัดตั้งในรูปนิติบุคคล
3. กรณีเป็นผู้รับจ้างทำบัญชีอิสระ คือ ผู้ประกอบวิชาชีพ
4. ผู้ช่วยผู้ทำบัญชี ( ในกรณีที่ "ผู้ทำบัญชี" รับทำบัญชีเกินกว่า 100 ราย ตามประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ และเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ. 2543 ข้อ 7 (3))
คุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้ทำบัญชี
คุณสมบัติทั่วไป
- มีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
- มีความรู้ภาษาไทยเพียงพอ ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ทำบัญชีได้
- ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี หรือกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี หรือกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
คุณวุฒิการศึกษา ตามขนาดธุรกิจที่กำหนดแต่ละกลุ่ม
- ปริญญาตรีทางการบัญชี หรือเทียบเท่าทำบัญชีได้ทุกธุรกิจ
- ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ( การบัญชี ) หรืออนุปริญญา ( บัญชี ) สำหรับบริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่มี
*** ทุน ไม่เกิน 5 ล้านบาท
*** รายได้รวม ไม่เกิน 30 ล้านบาท
*** สินทรัพย์รวม ไม่เกิน 30 ล้านบาท
- สำหรับบุคคลธรรมดา หากเจ้าของกิจการจัดทำบัญชีเองไม่กำหนดคุณวุฒิการศึกษา แต่ถ้าจ้างบุคคลอื่นจัดทำบัญชีให้ผู้ทำบัญชี ต้องมีคุณวุฒิการศึกษาตามที่กำหนด
เงื่อนไข
- แจ้งรายละเอียดตามแบบ ส.บช.5 หรือ ส.บช. 6 ภายใน 60 วัน นับจาก
*** วันเริ่มทำบัญชี
*** วันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับผู้ทำบัญชี
- เข้าอบรมความรู้เกี่ยวกับบัญชีตามที่กำหนด
- ต้องรับทำบัญชีไม่เกิน 100 ราย หากเกินจะต้องมีผู้ช่วยที่มีคุณวุฒิเพิ่มอีก 1 คน ทุก 100 ราย ที่เพิ่ม ( เศษของ 100 ถ้าเกิน 50 ให้นับเป็น 100 ) ตามประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่องกำหนดคุณสมบัติ และเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ. 2543 ข้อ 7 ( 3 )
การแจ้งการเป็นผู้ทำบัญชี
ผู้ทำบัญชีที่มีคุณสมบัติตาม ม. 7 ( 6 ) แห่ง พ.ร.บ. การบัญชี พ.ศ. 2543 ต้องแจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีที่สำนักกำกับดูแลธุรกิจ หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ตามที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของผู้แจ้งเพียงแห่งเดียว ตามแบบ ส.บช. 5 พร้อมหลักฐาน ภายใน 60 วัน นับแต่วันเริ่มทำบัญชี
การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลของผู้ทำบัญชี
ตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2537 เป็นต้นไป ผู้ทำบัญชีสามารถแจ้งเพิ่มและยกเลิกธุรกิจที่รับทำบัญชีทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยผู้ทำบัญชีต้องได้รับหมายเลขผู้ใช้ (User ID) และรหัสผ่าน (Password) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้
ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป ผู้ทำบัญชีทุกคนจะต้องแจ้งเพิ่มเติม และยกเลิกธุรกิจที่รับทำบัญชี รวมทั้งการอบรมความรู้เกี่ยวกับการทำบัญชีทางอินเทอร์เน็ต ส่วนการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลของผู้ทำบัญชีในกรณีอื่น เช่น การเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล คุณวุฒิการศึกษา ส.บช.6 พร้อมหลักฐาน แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลของผู้ทำบัญชีต้องแจ้งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
บทกำหนดโทษผู้ทำบัญชี และผู้กระทำความผิดที่สำคัญ
1. ไม่จัดทำบัญชีเพื่อให้มีการแสดงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินตามความเป็นจริงตามมาตรฐานการบัญช
บทกำหนดโทษ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท (มาตรา 34)
2. ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของอธิบดีในเรื่อง
(1) ชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ
(2) ข้อความ และรายการที่ต้องมีในบัญชี
(3) ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชี
(4) เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี
(5) คุณสมบัติ และเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี
บทกำหนดโทษ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
หมายเหตุ ข้อ 2 (1)-(4) ปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละ 500 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (มาตรา 27)
3. ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น หรือทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งบัญชี หรือเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชี
บทกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 38)
4. ลงรายการเท็จ แก้ไข ละเว้นการลงรายการในบัญชี หรืองบการเงิน หรือแก้ไขเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี เพื่อให้ผิดความเป็นจริง
บทกำหนดโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 39)
ข้อมูลจาก สำนักกำกับดูแลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th